วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิทยุธานินทร์ อดีตยากที่จะลืม   








             จุดเริ่มต้นของธานินทร์คือ "นภาวิทยุ" โดย คุณอุดม วิทยะสิรินันท์ ผู้ก่อตั้งร้านขายวิทยุเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณสามแยกเอส.เอ.บี ก่อตั้งเมื่อปี 2489   ถัดจากนั้นสามปี ได้ย้ายมาอยู่ตรงข้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ในชื่อใหม่ว่า "ธานินทร์วิทยุ"  มีพนักงานเริ่มแรกเพียงเจ็ดคน แต่ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ร้านขายวิทยุเล็กๆ แห่งนี้ก็ได้เจริญก้าวหน้าจนขยับขยายกิจการขึ้นไปเป็นผู้ประกอบวิทยุออกจำหน่ายเสียเอง ภายใต้ยี่ห้อ "ซิลเวอร์" เมื่อปี 2499 ซึ่งก็ขายดิบขายดีจนต้องเปลี่ยนยี่ห้อใหม่มาเป็น "ธานินทร์" เพื่อหนีการลอกเลียนแบบ

    
   ด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน วิทยุเริ่มกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในฐานะสื่อที่จะรับรู้ความเคลื่อนไหวของบ้านเมืองและความบันเทิง ในตอนนั้นวิทยุที่ใช้กันอยู่ในบ้านเราเป็นวิทยุหลอดที่มีรูปร่างเทอะทะใหญ่โตและมีราคาแพง เพราะต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบลาวฟุ้งท์ เทเลฟุงเก้น กรุนดิก หรือ ยี.อี. ล้วนแต่เป็นวิทยุที่จะพบเห็นได้เฉพาะในเมืองกรุงเท่านั้น เพราะเป็นสิ่งที่เกินฐานะกว่าที่ชาวชนบทจะซื้อหามาใช้ได้ ธานินทร์อาศัยความได้เปรียบทางด้านราคาที่ถูกกว่า เพราะผลิตได้เองในประเทศ มาเป็นจุดแข็งของคนในการขยายตลาด และใช้ความเหนือกว่าทางด้านคุณภาพมาเป็นสิ่งสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ในวิทยุทรานซิสเตอร์ 

     ปี 2505 ธานินทร์ก้าวกระโดดครั้งใหญ่  เมื่อคุณอุดมและน้องๆ คือ อรรณพ อนันต์ และอเนก ระดมทุนแปรสภาพกิจการเป็นบริษัทจำกัดในชื่อ "ธานินทร์อุตสาหกรรม" ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก สามล้านบาท พร้อมกับซื้อที่ดินก่อสร้างโรงงานขึ้นที่ซอยอุดมสุข บางนา อันเป็นที่ตั้งของบริษัทจนถึงปัจจุบันนี้ การประกาศตัวว่าเป็นสินค้า "เมดอินไทยแลนด์"ภายใต้สโลแกน “ทุกบาทคุ้มค้าด้วยธานินทร์” ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้าไทย เป็นวิธีการที่ได้ผลทำให้วิทยุทรานซิสเตอร์ของธานินทร์ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ

    "วิทยุที่ IMPORT เข้ามาช่วงนั้นมีข้อเสียตรงที่เวลารับคลื่น เอเอ็มแล้ว ไม่ค่อยชัด ธานินทร์แก้ปัญหาตรงนี้ได้ รับเอเอ็มได้ชัดแจ๋ว สมัยก่อนก็เป็นคลื่นเอเอ็มทั้งนั้น ธานินทร์ก็เลยเหนือกว่าคนอื่น" นอกเหนือจากราคาที่ถูกกว่า รับฟังได้ชัดเจนกว่าแล้ว ไม้เด็ดอีกอันหนึ่งของธานินทร์คือ การบุกเข้าไปถึงตัวลูกค้า โดยการบรรทุกวิทยุใส่รถตระเวนไปขายตามงานวัดในต่างจังหวัด "คุณอนันต์เป็นเจ้าของไอเดียนี้ แกตระเวนไปกับรถ เดินสายไปทั่วประเทศ เอาวิทยุไปเปิดให้ฟังถึงที่ เป็นการแนะนำธานินทร์ไปในตัว คนไหนอยากจะซื้อแต่เงินไม่พอจะซื้อเงินผ่อนก็ยังได้"

     ปี 2517-2523 เป็นช่วงที่สินค้าธานินทร์ เติบโตและได้รับความนิยมอย่างสูง บริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรม มีการขยายธุรกิจ บริษัทในเครือออกไปถึง 4 แห่ง ได้แก่ ธานินทร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เชียงใหม่ ธานินทร์อินเตอร์เนชั่นแนล ธานินทร์คอนเดนเซอร์ และธานินทร์การไฟฟ้า  โดยมี ห้างอุดมชัย  ที่บริหารงานโดย  อนันต์ วิทยะสิรินันท์ เป็นตัวแทนจำหน่าย และทำหน้าที่ผู้บริหารการตลาด มีการขยายกิจการไปผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าครบวงจร ได้แก่ โทรทัศน์ขาว-ดำ โทรทัศนสี พัดลม หม้อหุงข้าว จนยกฐานะสินค้าธานินทร์ เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอันดับที่สาม รองจาก เนชั่นแนล และโซนี่  สินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นได้สำเร็จ เป็นที่นิยมของคนไทยที่ได้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศสูงมากในช่วงนั้น                   

        กลยุทธ์การตลาดในยุคแรก ใช้การเข้าถึงผู้ใช้สินค้าในตลาดระดับล่าง โดยเน้นที่ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตโดยคนไทย และมีราคาถูก จนประสบ ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว


    การประชาสัมพันธ์ทางด้านการตลาดอีกปัจจัยหนึ่่ง ที่ทำให้ผู้คนรู้จักสินค้าธานินทร์เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ฟังทั่วประเทศต่างจดจำเอกลักษณ์ของวิทยุธานินทร์ โดยที่คนในยุคนั้นต้องไม่ลืม ครูไพบูลย์ ศุภวารี อดีตข้าราชการสังกัด กองดุริยางค์กองทัพบก ที่ลาออกจากราชการ เพื่อมาเอาดีทางดนตรีพร้อมกับได้ทำงานประจำอยู่ที่ บริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรม ตำแหน่งประชาสัมพันธ์ และทำหน้าที่ผู้จัดรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ และเป็นผู้รณรงค์โฆษณาสนับสนุนให้คนไทยซื้อสินค้าไทย โดยบริษัทคนไทย จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป  

            รายการวิทยุที่ท่านจัดได้แก่ - 120 นาที มัลติเพล็กซ์ - ลูกทุ่งมัลติเพล็กซ์ มนต์เพลงสเตอริโอ - ของฝากนักเพลง  ซึ่งเป็นเพลงไทย - สากล - เก่า - ใหม่ และเพลงลูกทุ่ง เก่า-ใหม่   มีการนำเพลงมาบันทึกเสียงใหม่และออกอากาศในระบบสเตอริโอ  เป็นเจ้าของคำพูดที่ว่า  แชนแนล A ควรเป็นลำโพงด้านซ้าย และแชนแนล B ควรเป็นลำโพงด้านขวา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การจัดรายการของ ครูไพบูลย์ จนเป็นที่รู้จักทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด พร้อมทั้งสนับสนุนให้คนไทยซื้อสินค้าไทย






          ปัจจุบัน ครูไพบูลย์ ศุภวารี ล้มป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน พักรักษาตัวอยู่ที่บ้านย่านนวมินทร์ บึงกุ่ม กรุงเทพฯ 




         ต่อมาในปี พ.ศ.2524-2525 สินค้าโทรทัศน์ขาว-ดำของธานินทร์ 
ประสบปัญหาด้านการตลาด หลังจากที่มีการส่งออกไปขายยุโรป แต่กลับถูกคู่แข่งอย่าง
ซัมซุง ของเกาหลีใต้และไต้หวันแบ่งยอดขายไปในราคาที่ถูกกว่า จนต้องหาตลาดใหม่โดย
มุ่งไปที่ประเทศจีน แต่ก็ไม่สามารถสู้กับสินค้าฮิตาชิ ที่ผลิตจากโรงงานที่ลงทุนในประเทศ
จีนได้ ทำให้สินค้าธารินทร์มียอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ค้างสต็อกอยู่เป็นจำนวนมาก  
ขณะเดียวกัน การตลาดในประเทศ ที่มีการการปรับภาพลักษณ์สินค้าสู่ตลาดระดับบน
ก็ล้มเหลว เนื่องจาก สินค้า ยี่ห้อธานินทร์ยังไม่เป็นที่ยอมรับด้านเทคโนโลยีและความ
ทันสมัย





       
       ในที่สุด เมื่อเกิดมรสุมเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2527 ทำให้ บริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรมต้องปิดกิจการลง บริษัท ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการระยะ 5 ปีของธนาคาร
และเจ้าหนี้อื่นๆ 13 ราย ทำให้สินค้าธานินทร์หายไปจากท้องตลาด ในช่วงเวลาหนึ่ง
           
       จนกระทั่ง พฤษภาคม 2532 บริษัทยักษ์ใหญ่สิ่งทอไทย เครือสหยูเนี่ยน เข้าเทคโอเวอร์ บริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรม โดยการตั้งบริษัทใหม่ 2 บริษัท คือ บริษัทธานินทร์ยูเนี่ยนอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่เป็นโรงงานผู้ผลิต และบริษัท ธานินทร์ยูเนี่ยนเซลส์แอนด์เซอร์วิส  ดูแลด้านการตลาดและบริการ

       ปัจจุบัน จึงมีสินค้า ธานินทร์ เริ่มผลิตออกมาวางตลาด แต่การที่จะกลับมายิ่งใหญ่เช่นเดิมหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป



หมายเหตุ จากเรื่อง"ธานินทร์ยูเนี่ยนอุตสาหกรรม ก้าวแรกของซัมซุงเมืองไทย"
        โดย นพ นรนารถ ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 69 เดือนมิถุนายน 2532 
        จากเรื่อง"ธานินทร์อุตสาหกรรม ฤาจะพ้นพงหนาม" ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่    
        58 เดือนกรกฎาคม 2531
        จากเรื่อง"ธานินทร์อุตสาหกรรม เนื้อแท้ของปัญหาที่ไร้คนมอง"

        โดย ทรงเกียรติ ชาติวัฒนานนท์ ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 41 เดือน  
        กุมภาพันธ์ 2530


http://www.siamtakeang.com/webboard/index.php?topic=13134.0


ธานินทร์ ระบบเอเอ็ม เอฟเอ็มแบบต่างๆ



.













8 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 สิงหาคม 2555 เวลา 09:06

    ชอบบล๊อกสไตล์นี้จังเลยครับ มีเสน่ห์โบราณ ๆ ดี

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ ติดตามต่อนะครับยังมีเรื่องราวนำเสนออีก

      ลบ
  2. มาโหวตให้อาจารย์อีก 1 คะแนน (190) และรออ่านเรื่องธานินทร์ต่อครับ
    ทีวีเครื่องแรกที่ผมดูก็ยี่ห้อนี้แหละครับ เห็นบล๊อคแล้วอดคิดถึงอดีตไม่ได้ ตอนดูโดเรมอนแบบขาวดำ
    และถ้าหากอาจารย์ว่าง ๆ ก็ขออนุญาติเรียนเชิญไปโหวตให้ สามก๊กวิทยา ด้วยนะครับ
    http://www.thailandblogawards.com/blogs/show/1449

    ตอบลบ
  3. ไม่ทราบว่ายังมีขายอยู่ใหมรุ่น tf2100
    และ tf2222

    ตอบลบ
  4. ไม่ทราบว่ายังมีขายอยู่ใหมรุ่น tf2100
    และ tf2222

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. มีเรื่อยๆ ติดตามได้ที่
      http://www.thaigramophone.com/webboard.asp?wbid=351

      ลบ
  5. อ่านสนุก ได้ความรู้ค่ะ แต่ปัจจุบันเป็นยังไงน้อ

    ตอบลบ
  6. สมัยผมเรียนเชียงใหม่(2525-2527) ผ่านโรงงานธานินทร์ แถวๆ ใกล้ๆสนามบินทุกวัน เช้ามอเตอร์ไซด์มาทำงานเยอะมาก เลิกเรียนกลับมาเจอเลิกงาน มีทั้งคนเอารถมาเอง หรือคนใกล้ชิดมารอรับคนงาน คึกคักน่าดู อนิจจา! ไม่กี่ปีโรงงานก็หายไป พอผมเรียนจบ วิทยุเทปที่ผมซื้อ 2 เครื่องแรกก็เป็นธานินทร์ แต่เครื่องที่เป็นสเตริโอ ข้างในเป็น Samsung แสดงว่าเริ่มขาดทุน จนต้องจ้างผลิต ต่อมาเมื่อเป็นธานินทร์ยูเนี่ยน สายการผลิตเกือบทั้งหมดก็ไปจีน

    ตอบลบ